โครงการ “๗ คนพิการไทย ส่งใจผ่าน ๘๔ งานจิตรกรรม ทำความดีถวายในหลวง” (เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา มหาราชา)
โดย กลุ่ม By Heart
ย้อนวันวาน...กับที่มาของโครงการฯ.
“เป็นเวลากว่า ๓ ปี ที่ได้อาสาเข้ามาทำงานช่วยเหลือกลุ่มคนพิการหลายประเภท ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการประสาน เชื่อมโยง ให้การฝึกอบรม จัดกิจกรรม ออกร้าน งานด้านอาชีพ และงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์” ทำให้คุณไพบูลย์ แดงประสิทธิ์ บรรณาธิการบริหาร PWD Magazine ผู้ดำเนินรายการ “ชีวิตเหนือฝัน” และกรรมการผู้จัดการ PWD Multimedia co.,ltd.(Person With Disability) ได้มองเห็นลึกเข้าไปในคุณค่าของชิ้นงานแต่ละชิ้นของผู้พิการ นอกเหนือไปจากรูปลักษณะที่เห็นได้ด้วยสายตาภายนอก ซึ่งคุณค่านั้นเกิดจากการที่คนพิการได้ใช้ความพยายาม ความทุ่มเทและตั้งใจจริงในการผลิต ด้วยอวัยวะส่วนที่ยังคงเหลือและสามารถใช้การได้ (แม้จะไม่สะดวกและถนัดนักก็ตาม)
แต่ชิ้นงานที่สรรสร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากเหล่านั้น ยังไม่ได้ถูกยอมรับในแง่ศิลปะ หากแต่ถูกยอมรับในด้านมนุษยธรรม การช่วยเหลือ และความสงสาร อันถือเป็นสิ่งดีในสังคมไทย ซึ่งไม่แตกต่างไปจากการสงเคราะห์ หากแต่ในส่วนลึกของจิตใจคนพิการเหล่านี้ สิ่งที่ต้องการคือโอกาส และการยอมรับในผลงาน และการสร้างสรรค์ในแง่ศิลปะอันเกิดจากความพยายามด้วยใจมากกว่า
จนในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา มหาราชา ปีทองแห่งวัฒนธรรม อันถือเป็นฤกษ์งามยามดี จึงทำให้คุณไพบูลย์เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะนำพาคนพิการทั้ง ๗ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรงานศิลปะด้วยใจ เพื่อทำให้ผลงานเกิดการยอมรับในแง่ศิลปะ และทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม อันถือเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจแม้มีความพิการแตกต่างกันไป และที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อให้คนพิการทั้ง ๗ ได้เป็นตัวแทนในการถวายเป็นกิจกรรมสร้างความดี อันแสดงถึงความศรัทธา ความเทิดทูล และความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา
๗ คนพิการไทย ผู้มีใจสร้างสรรค์
๑.บุญชู โมราลัย (พิการทางการเคลื่อนไหว) อายุ ๓๓ ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ หญิงเดียวผู้รังสรรค์
งานจิตรกรรมต่อยอดจากงานศิลปะบ้านถวาย
๒.พิเชษฐ์ ฮวบเล็ก (พิการรุนแรง สูงสุดทางการเคลื่อนไหว) อายุ ๓๔ ปี จากจังหวัดนครปฐม แม้
แขน ขา และร่างกายจะใช้ไม่ได้ แต่ก็ยังมีปากในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม
๓.พิเชษฐ์ ฮ้องหาญ (พิการรุนแรง สูงสุดทางการเคลื่อนไหว) อายุ ๓๔ ปี จากจังหวัดสมุทรปราการ
น้องใหม่ผู้มากด้วยพรสวรรค์ในการสรรค์สร้าง แม้ต้องผูก ยึด ติดร่างกายกับอุปกรณ์
๔.ทิวา สุขาจิตร์ (พิการทางการได้ยินและสื่อสาร) อายุ ๓๗ ปี จากจังหวัดจันทบุรี ผู้ซึ่งรังสรรค์งาน
ผ่านโลกเงียบสงัดมาแต่กำเนิด
๕.สุพจน์ ช่อแก้ว (พิการรุนแรง สูงสุดทางการเคลื่อนไหว) อายุ ๓๘ ปี จากจังหวัดอ่างทอง ผู้
อารมณ์ดี แม้ไม่มีเหลือส่วนใดของร่างกายที่จะใช้หยิบจับภู่กัน
๖.ปรีดา ลิ้มนนทกุล (พิการรุนแรง สูงสุดทางการเคลื่อนไหว) อายุ ๓๙ ปี จากจังหวัดนนทบุรี
ผู้เรียนรู้และรู้จักที่จะใช้ความพิการอย่างคุ้มค่าที่สุด
๗.กฤษณากร มะลิวัลย์ (พิการทางร่างกาย) อายุ ๕๒ ปี จากจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เอาชนะอุปสรรค
ทางธรรมชาติของร่างกาย ด้วยความเพียรพยายามอย่างเต็มที่
หลักการและเหตุผล
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้ซึ่งถือว่าด้อยโอกาสทางสังคม อันเนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์ปรกติทางร่างกาย (พิการ หรือทุพพลภาพ) แต่มีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา ความเทิดทูล และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ ได้มีโอกาสในการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านผลงานในด้านศิลปะ แขนงจิตรกรรม จากความพยายามในการใช้อวัยวะส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ในการสร้างสรร โดยไม่ทำให้เป็นอุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ทำให้ต้องรั้งรอ หยุด หรือคำนึงถึงความสมบูรณ์ ความพร้อม ในการสร้างสรรความดี
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ.
๑.ถวายเป็นกิจกรรมความดี ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา
๒.แสดงผลงานของคนพิการทั้ง ๗ ให้เป็นที่ยอมรับในแง่ศิลปะ ผ่านผลงานทางด้านจิตรกรรม
๓.เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้วยการประชาสัมพันธ์ผลงานทางด้านจิตรกรรม
๔.เพื่อเป็นแบบอย่างในด้านความสามัคคี การร่วมมือทำความดี โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์พร้อม อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่มี ในการสร้างสรรความดีเพื่อส่วนรวม
๕.เพื่อการจัดกิจกรรมร่วม (ผลงานด้านอื่นๆ ของคนพิการ) อันเป็นการแสดงพลัง และความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการ อันถือเป็นแบบอย่างในการแปลเปลี่ยน "ภาระ ให้กลายเป็น พลัง"
ขั้นตอน และวิธีการในการดำเนินโครงการฯ.
คนพิการทั้ง ๗ ท่าน วาดภาพตามแนวทางและตามความถนัดของแต่ละคนๆ ละ ๑๒ ภาพ ภายในระยะเวลา ๔ เดือน (เดือนละ ๓ ภาพ) ซึ่งในการวาดภาพทั้ง ๓ ภาพในแต่ละเดือน จะมีการออกแสดงการวาดภาพโชว์ พร้อมกับมีกิจกรรมอื่นๆ ของคนพิการทั่วไปประกอบไปด้วย เช่น การออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือคนพิการ และการสาธิต การสอนฯลฯ.
และภาพที่วาดแล้วเสร็จในแต่ละเดือน (๓ ภาพจาก ๗ คนพิการ รวม ๒๑ ภาพต่อเดือน) จะผ่านกระบวนการเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทำการดาวน์โหลดเป็นวอล์ลเปเปอร์บนโทรศัพท์มือถือ (ดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ถึง เดือนธันวาคม รวม ๗ เดือน) ซึ่งรายได้จากการดาวน์โหลดหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว จะมอบรายได้ส่วนหนึ่งถวายในหลวง
ส่วนภาพวาดทั้ง ๘๔ ภาพ จะเปิดให้มีการประมูล โดยจะมีการจัดกิจกรรมและประมูลอย่างเปิดเผย ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว จะนำถวายในหลวงเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น